คันแหลน ๒

Vidalasia fusca (Craib) Tirveng.

ชื่ออื่น ๆ
พุดกระบี่
ไม้พุ่มถึงไม้ต้นขนาดเล็ก ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามในระนาบเดียวกัน รูปใบหอก หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยม ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามชอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ออกที่ยอด ดอกสีขาว ผลคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปค่อนข้างกลม เมล็ดเล็ก จำนวนมาก

คันแหลนชนิดนี้เป็นไม้พุ่มถึงไม้ต้นขนาดเล็กสูงได้ถึง ๗ ม. กิ่งมีช่องอากาศ ยอดมีชันเหนียว

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามในระนาบเดียวกัน รูปใบหอก กว้าง ๔-๑๐ ซม. ยาว ๕-๑๒ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลมสั้น ๆ โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบทั้ง ๒ ด้านมีขนเส้นแขนงใบข้างละ ๗-๙ เส้น เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๑-๒ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยม

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ออกที่ยอด ยาว ๔-๕ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๓-๔ ซม. ก้านดอกยาว ๑-๒ มม. เมื่อเป็นผลก้านยาว ๑-๒ ซม. ดอกสีขาว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๕ ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๐.๓ ซม. กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่แกมรูปใบหอก ยาว ๕-๘ มม. เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดประมาณกึ่งกลางหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูปลายยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอกเล็กน้อย รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียปลายแยกเป็น ๒ แฉก

 ผลคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. เมล็ดเล็กมีจำนวนมาก

 คันแหลนชนิดนี้เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยมีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ พบตามพื้นที่โล่งป่าภูเขาหินปูน ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๕๐-๒๕๐ ม. ออกดอกประมาณเดือนกุมภาพันธ์ เป็นผลเดือนมีนาคมถึงเมษายน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คันแหลน ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Vidalasia fusca (Craib) Tirveng.
ชื่อสกุล
Vidalasia
คำระบุชนิด
fusca
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
- Tirvengadum, Deva D.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant (1882-1933)
- Tirvengadum, Deva D. (fl. 1986)
ชื่ออื่น ๆ
พุดกระบี่
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.วรดลต์ แจ่มจำรูญ